ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เสวรินทร์ สงสุรินทร์

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประวัติความเป็นมาของวันปีใหม่

หากพูดถึงวันขึ้นปีใหม่ ตามหลักความเชื่อจะไม่ยึดถือว่าวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันปีใหม่ ยกตัวอย่างเช่น วันตรุษจีน จัดเป็นวันปีใหม่ของชาวจีน, วันสงกรานต์ จัดเป็นวันปีใหม่ไทย  เป็นต้น เพียงแต่ทั่วโลกส่วนใหญ่ยึดหลักตามปฏิทินให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันแรก ของเดือนแรก ในปีนั้นๆ เป็น วันขึ้นปีใหม่นั้นเอง
เดิมที ใน 1 ปี เราจะมีจำนวนวัน 365 วัน แต่ในยุคสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์อียิปต์มาปรับแต่งให้ ทุกๆ 4 ปี ให้เติมเดือนกุมภาพันธ์ ที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ให้เป็น 29 วัน ซึ่งในปีนั้นเราจะเรียกว่าเป็นปี อธิกสุรทิน


ความเป็นมาของวันปีใหม่ในไทย

วันขึ้นปีใหม่ (Happy New Year) ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า ปี หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน และ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ
วันขึ้นปีใหม่ไทยประเพณีปีใหม่ของไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติเป็นวันขึ้นปีใหม่
ใน สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราช แทน รัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 และต่อมาใน พ.ศ. 2456 โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์
ในสมัยรัชกาลที่ 8 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็น วันขึ้นปีใหม่ เพราะวันที่ 1 มกราคม ใกล้เคียงวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปีและเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนาและตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 31 เป็นต้นไป

สาเหตุที่วันขึ้นปีใหม่ไทยเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม เพราะ??

  • เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
  • เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนารพุทธ
  • เป็นการกำหนดให้เป็นวันเดียวในระดับสากลประเทศทั่วโลก
  • เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของไทย
สำหรับ พิธีของราชการและประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ ก็จะมีตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม จนถึง วันที่ 1 มกราคม เช่น เคยยึดถือมาเดิม คือในวันสิ้นปีหรือ วันที่ 31 ธันวาคม ทางราชการหรือประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ จัดให้มีการรื่นเริง มหรสพ และในตอนเช้า วันที่ 1 มกราคม ก็จะมีการทำบุญตักบาตร สุดแท้แต่การจัด บางปีมีการจัดร่วมกัน บางปีบางท้องที่ก็ไปทำบุญตักบาตรกันที่วัดหรือที่ใดๆ บางท่านบางครอบครัว ก็มีการทำบุญตักบาตรหรือการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน ที่สำนักงานของตน

การส่ง ส.ค.ส. วันปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อไหร่

ในวันปีใหม่ เราทุกคนจะรู้จัก ส.ค.ส. กันเป็นอย่างดี ที่มักเรียกกันว่า “ส่งความสุข” จริงๆ แล้วประเทศไทยเราไม่มีมาตั้งแต่ต้น แต่เราได้รับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีมาตั่งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยจะมาในรูปแบบของกระดาษ ด้วยวิธีการเขียนหรือพิมพ์รูปภาพ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยื่ยนกันในวันปีใหม่ และปัจจุบันนิยมส่ง ส.ค.ส. ในวันปีใหม่อย่างแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งยังมีการสร้าง ส.ค.ส. ขึ้นเพื่อใช้ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น วันวาเลนไทน์ วันคริสต์มาส เป็นต้น

ส.ค.ส. พระราชทาน 2530
ส.ค.ส. พระราชทาน 2530
แต่ถึงอย่างไรแล้ว ส.ค.ส. ใดก็ไม่รู้สึกดีเท่าไร ส.ค.ส. พระราชทาน  ซึ่งคนไทยจะเฝ้ารอพระราชทานพรปีใหม่ทุกปี จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 โดยแรกเริ่มพระองค์พระราชทาน ส.ค.ส. ในปี พ.ศ. 2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชานให้แก่หน่วยงานผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท  โดยใช้รหัสแทนพระองค์ว่า “กส.9” เช่นเดียวกับการติดต่อทางวิทยุสื่อสารของพระองค์เอง

ส.ค.ส. พระราชทาน 2547
ส.ค.ส. พระราชทาน 2547
หลังจากนั้นพระองค์ทรงพระราชทาน ส.ค.ส. ทุกปี จนเมื่อเหตุการณ์ สึนามี ในปลายปี พ.ศ. 2547 สึนามึได้เข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์ทรงห่วงใย ช่วยเหลือพสกนิกรอย่างหนัก อีกทั้งพระองค์ก็ทรงพระราชทาน ส.ค.ส. ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์นั้นๆ  แต่แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจ

ส.ค.ส. พระราชทาน 2554
ส.ค.ส. พระราชทาน 2554
จากที่สังเกตุ จะเห็นได้ว่าพระองค์พระราชทาน ส.ค.ส. ในรูปแบบของกระดาษไม่มีสี ไม่มีลวดลายใดมากนัก แต่ในปี พ.ศ. 2554 พระองค์ทรงได้พระราชทาน ส.ค.ส. วันปีใหม่ ด้วยภาพสี ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนจะต้องผ่านตามาอย่างแน่นอน โดยเป็น “พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สีครีมผ้าปัก พระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตสีขาว ทรงผูกเนกไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสอง ข้างมีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษรสีเหลือง
ข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011
ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 121923 ธ.ค.53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher กรอบของ ส.ค.ส.พระราชทานฉบับนี้เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆเรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม”

ส.ค.ศ. พระเทพฯ พระราชทาน 2556
ส.ค.ศ. พระเทพฯ พระราชทาน 2556
ในปีนี้ พ.ศ. 2556 ได้มีพระราชทาน ส.ค.ส. จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทาน ส.ค.ส. 2557 ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย
***********************************************************************************

กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนาฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน
3. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
4. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

อาหารภาคอีสาน2

6. น้ำตกปลาหมึก

          ในเมื่อมีเมนูลาบก็ต้องตามมาด้วยเมนูน้ำตกที่เป็นของคู่กัน ก็เพราะว่ามีวิธีทำและส่วนผสมที่คล้ายกันนั่นเอง เมนูน้ำตกฮิต ๆ ก็คงเป็นน้ำตกหมู แต่ที่เราจะนำเสนอขอเปลี่ยนเป็นน้ำตกปลาหมึกสักหน่อยดีกว่า เอาใจคนชอบกินอาหารทะเล ทำง่าย ๆ ด้วย มาดูกัน

สิ่งที่ต้องเตรียม
           • ปลาหมึกหั่นเป็นชิ้น 200 กรัม
           • หอมแดงซอย 1 หัว
           • ผักชีฝรั่งซอย
           • ใบสะระแหน่ สำหรับโรยหน้า
           • น้ำปลา สำหรับปรุงรส
           • น้ำมะนาว สำหรับปรุงรส
           • พริกป่น ปริมาณตามชอบ
           • ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

           • ใส่น้ำลงในหม้อเล็กน้อย นำขึ้นตั้งไฟแรงจนเดือด ใส่เนื้อปลาหมึกลงไปรวนจนสุก ยกลงจาเตา ตักใส่อ่างผสมเตรียมไว้
           •  ใส่หอมแดง ต้นหอมซอย และใบสะระแหน่ลงในหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย และพริกป่น คนผสมให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ เติมข้าวคั่ว จากนั้นเคล้าผสมให้เข้ากันอีกครั้ง ตักใส่จาน โรยใบสะระแหน่ พร้อมเสิร์ฟ
+++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
7. ตับหวาน 

          เมนูอาหารอีสานสุดแซ่บจานนี้ คงจะเป็นที่โปรดปรานของคนที่ชอบกินอาหารกึ่งสุกกึ่ดิบ ที่จะนำตับหมูไปลวกพอเกือบสุก พอให้นิ่ม เพราะถ้าลวกสุกเกินไป ตับหมูจะแข็ง ไม่อร่อย ๆ นั่นเอง ส่วนใครที่รู้ตัวว่า สภาพกระเพาะไม่แข็งแรงก็ระมัดระวังกันด้วยนะจ๊ะ

สิ่งที่ต้องเตรียม
           • ตับหมู หั่นเป็นชิ้นบาง 200 กรัม
           • น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
           • พริกป่น ปริมาณตามความชอบ
           • ข้าวคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
           • ต้นหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ
           • ผักชีฝรั่งซอย 1 ช้อนโต๊ะ
           • ใบมะกรูดซอย 1 ช้อนโต๊ะ
           • ใบสะระแหน่ ปริมาณตามชอบ

วิธีทำ

           • ต้มน้ำจนเดือดจัด นำตับหมูลงลวกจนสุก (ระดับความสุกเลือกตามความชอบ) ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ เตรียมไว้
           • ผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย และพริกป่นเข้าด้วยกัน จากนั้นเทลงในอ่างผสมที่ใส่ตับหมูลวกไว้ เคล้าผสมให้เข้ากัน
           • ใส่ข้าวคั่ว ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่งซอย ใบมะกรูดซอย และใบสะระแหน่ลงเคล้าผสมจนเข้ากันดี ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
+++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
8. หมูมะนาว

          เมนูหมูมะนาวถือเป็นเมนูกับแกล้มสุดฮิตเลยก็ว่าได้ ไปสังสรรค์ในวงไหนก็มักจะต้องสั่งมากินคู่ทุครั้งไป รสเปรี้ยวนำ เด็ดเผ็ดแซ่บเสียเหลือเกิน ใครที่ชอบเมนูแซ่บ ๆ ต้องลองเลย วิธีทำก็ไม่ยากด้วย

สิ่งที่ต้องเตรียม
           • เนื้อหมู หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตามยาว 200-300 กรัม
           • กระเทียมสับละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
           • พริกขี้หนูซอยละเอียด ปริมาณตามชอบ
           • น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำมะนาว 4-5 ช้อนโต๊ะ
           • ก้านคะน้า สำหรับรับประทานคู่
           • กระเทียมฝานเป็นแว่นบาง สำหรับโรยหน้า
           • ใบสะระแหน่ สำหรับโรยหน้า
           • พริกแห้งทอดกรอบ สำหรับโรยหน้า

วิธีทำ

           • ใส่น้ำลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟจนเดือด ใส่เนื้อหมูลงลวกพอสุก (ประมาณ 30 วินาที อย่าลวกนาน เพราะเนื้อหมูจะแข็ง) ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ จัดใส่จานที่รองด้วยก้านคะน้า เตรียมไว้
           • ผสมกระเทียม พริกขี้หนู น้ำตาลทราย น้ำปลา และน้ำมะนาวเข้าด้วยกันจนน้ำตาลทรายละลาย ชิมรสตามชอบ ราดลงบนหมูที่เตรียมไว้ โรยด้วยกระเทียมฝาน ใบสะระแหน่ และพริกแห้งทอดกรอบ พร้อมเสิร์ฟ
+++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
9. ต้มแซ่บกระดูกอ่อน

          ลองมาแซ่บกันในแบบอาหารอีสานประเภทต้ม ๆ กันดูบ้าง กับเมนูต้มแซ่บกระดูกอ่อน กัดกรุบ ๆ ซดน้ำแซ่บ ๆ นึกถึงทีไรเป็นต้องกลืนน้ำลายเอื๊อกใหญ่ ! ถ้าพร้อมจะแซ่บแล้ว ก็ตามมาดูวิธีทำกัน

สิ่งที่ต้องเตรียม
           • น้ำ 500 มิลลิลิตร
           • ข่าแก่หั่นแว่น 5 ชิ้น
           • ตะไคร้หั่นเฉียง 1 ต้น
           • ใบมะกรูด ฉีกก้านกลาง 3 ใบ
           • กระดูกอ่อนหมูหั่นเป็นชิ้น ๆ 200 กรัม
           • เห็ดฟางผ่าครึ่ง 100 กรัม
           • มะเขือเทศราชินีผ่าครึ่ง 50 กรัม
           • หอมแดงซอยบาง 1 หัว
           • น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
           • น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
           • พริกป่น ปริมาณตามความชอบ
           • ใบโหระพา 10 ใบ
           • ผักชีฝรั่งซอย 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

           • ใส่น้ำลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟต้มจนเดือด ใส่ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูดลงต้มจนเดือดอีกครั้ง
           • ใส่กระดูกอ่อนหมูลงต้มจนสุก ใส่เห็ดฟาง มะเขือเทศ และหอมแดงซอยลงต้ม ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลทราย คนผสมจนเข้ากันดี ยกลงจากเตา ตักใส่ชาม เติมน้ำมะนาว พริกป่น และผักชีฝรั่ง ชิมรสตามชอบ โรยด้วยใบโหระพา พร้อมเสิร์ฟ
++++++++++++++++++++



10. ต้มซุปเปอร์ขาไก่

          ถ้ายังแซ่บไม่พอต้องจัดเมนูต้มซุปเปอร์ขาไก่ ถ้วยนี้ซะหน่อยแล้ว ที่รับรองเลยว่า อร่อยเด็ดถึงใจสุด ๆ กินทีไรเป็นเพลินทุกที แถมสูตรนี้ยังใส่เอ็นข้อไก่ด้วยนะจ๊ะ หรือตามไปดูวิธีทำอย่างละเอียดได้ที่นี่เลย

ส่วนผสม ต้มซุปเปอร์ขาไก่

           • น้ำเปล่า 500-700 มิลลิลิตร
           • ขาไก่ 500 กรัม
           • ข่า (หั่นเป็นแว่น)
           • ตะไคร้ (หั่นเป็นท่อน)
           • หอมแดง (ปอกเปลือก)
           • ใบมะกรูดฉีก
           • พริกสด
           • ผักชี
           • ผักชีฝรั่ง
           • ซีอิ๊วดำ 1 ช้อนชา
           • น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
           • ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ

 วิธีทำ ต้มซุปเปอร์ขาไก่

           • ใส่น้ำลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟแรง จากนั้นใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และหอมแดงลงไปต้ม พอน้ำเดือดพล่านแล้วใส่ขาไก่ลงไปต้ม (หมั่นช้อนฟองอากาศทิ้ง) 
           • ก่อนปรุงรสให้ตักส่วนผสมเครื่องต้มยำออกก่อนแล้วใส่ซีอิ๊วดำ น้ำปลา และซอสปรุงรสลงไป คนผสมให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ  ต้มต่ออีกประมาณ 30 นาที จนขาไก่เปื่อย
           • ซอยพริกขี้หนู ใบผักชีฝรั่ง ผักชี และหั่นมะนาวเตรียมไว้
           • พอต้มจนขาไก่เปื่อยแล้ว บีบมะนาวลงไป (ปริมาณตามชอบ) ตามด้วยพริกที่ซอยไว้ คนผสมให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วย โรยผักชีและผักชีฝรั่งซอย พร้อมเสิร์ฟ

++++++++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
11. คอหมูย่างกับน้ำจิ้มแจ่ว

          ขอปิดด้วย คอหมูย่าง ไว้กินแกล้มกับอาหารอีสานรสเด็ดทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งสูตรนี้เป็นคอหมูย่างน้ำผึ้ง ที่มาคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว ย่างร้อน ๆ หอม ๆ อร่อยสุด ๆ สูตรนี้แค่ย่างในกระทะง่าย ๆ ก็ได้กินแล้วจ้า

          หมายเหตุ : คอหมูย่าง 1 จาน ให้พลังานโดยประมาณ 200 กิโลแคลอรี่

สิ่งที่ต้องเตรียม
           • เนื้อสันคอหมู 200 กรัม
           • น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
           • ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
           • ซอสหอยนางรม 1/2 ช้อนโต๊ะ
           • พริกไทยขาว 1/4 ช้อนชา
           • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำมะขามเปียก 1 ช้อนโต๊ะ
           • น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชา
           • พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ
           • ข้าวคั่วป่นละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
           • หอมแดงซอย 1 ช้อนโต๊ะ
           • ต้มหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

           • ผสมน้ำปลา น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลปี๊บเข้าด้วยกัน คนผสมจนน้ำตาลปี๊บละลายหมดใส่พริกป่น ข้าวคั่ว และหอมแดงคนให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยต้นหอมซอย เตรียมไว้
           • ผสมน้ำผึ้งกับซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม และพริกไทยขาว คนผสมจนเข้ากัน
           • ใช้ส้อมจิ้มสันคอหมูให้ทั่ว นำไปหมักกับส่วนผสมด้านบน พักทิ้งไว้ในตู้เย็นประมาณ 30 นาที
           • ตั้งกระทะจนร้อน นำคอหมูลงจี่ให้สุกทั้งสองด้าน จากนั้นหั่นเป็นชิ้น จัดใส่จานเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว
ขอบคุณที่มา http://cooking.kapook.com/view92663.html

อาหารภาคอีสาน1

         1. ส้มตำไทยไข่เค็ม
          เปิดประเดิมอาหารอีสานด้วยเมนูส้มตำกันก่อนเลยดีกว่า เพราะนึกถึงอาหารอีสานทีไรก็ต้องส้มตำเป็นอันดับแรก แต่จานนี้ขอเสิร์ฟเป็นส้มตำไทยไข่เค็ม เผื่อว่าคนที่ไม่กินปลาร้า หรือไม่กินปู ก็สามารถแซ่บนัวไปด้วยกันได้

          หมายเหตุ : ส้มตำไทยใส่ไข่เค็ม (1 ฟอง) 1 จาน ให้พลังงานโดยประมาณ 130 กิโลแคลอรี่

ส่วนผสม ส้มตำไข่เค็ม

          • กระเทียมกลีบเล็ก 3-5 กลีบ
          • พริกขี้หนู ปริมาณตามชอบ
          • ถั่วฟักยาว 1 ฝัก
          • กุ้งแห้งอย่างดี 1 ช้อนโต๊ะ
          • มะเขือเทศสีดา 2 ลูก
          • น้ำปลา (ปรุงรส)
          • น้ำตาลปี๊บ (ปรุงรส)
          • น้ำมะขามเปียก (ปรุงรส)
          • น้ำมะนาว (ปรุงรส)
          • มะละกอสับ
          • แครอทสับ
          • ไข่เค็มผ่าครึ่ง 1 ฟอง
          • ถั่วลิสงคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ ส้มตำไข่เค็ม

          • โขลกกระเทียม และพริกขี้หนูเข้าด้วยกันพอหยาบ หักถั่วฝักยาวใส่ลงไป ตามด้วยมะเขือเทศหั่นเป็นชิ้น ๆ และกุ้งแห้งลงไปโขลกเบา ๆ พอให้ให้เข้ากัน
          • ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก และน้ำมะนาว โขลกให้น้ำตาลปี๊บละลาย ชิมรสตามชอบ 
          • สุดท้ายใส่มะละกอ และแครอทลงไปตำผสมเบา ๆ ให้เข้ากัน ใส่ไข่เค็มลงไป ใช้ทัพพีเคล้าผสมเบา ๆ ชิมรสอีกครั้ง ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ

+++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
2. ส้มตำข้าวโพดกุ้งสด

          ส้มตำทั่วไปก็กินจนเบื่อลองเลปี่ยนแนวมากินเมนูส้มตำข้าวโพดกุ้งสด สูตรจาก คุณ Angelisa สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม จับข้าวโพดคลุกเคล้ากับเครื่องส้มตำ ปรุงรสตามชอบ สีสันสวยงามน่าทานมากเลยค่ะ

ส่วนผสม ส้มตำข้าวโพดกุ้งสด

          • ข้าวโพดต้ม
          • ถั่วฝักยาว
          • มะเขือเทศ
          • แครอทฝานเป็นเส้น ๆ 
          • พริกขี้หนู
          • กระเทียมสับหยาบ
          • น้ำปลา (สูตรโซเดียมต่ำ)
          • น้ำตาลมะพร้าว
          • ถั่วลิสงอบ

วิธีทำส้มตำข้าวโพดกุ้งสด

          • 1. ฝานข้าวโพด หั่นถั่วฝักยาว หั่นมะเขือเทศ และฝานแครอทหั่นเป็นเส้น ๆ เตรียมไว้
          • 2. ปรุงน้ำยำโดยใส่พริกขี้หนู กระเทียมสับ น้ำปลาลดโซเดียม น้ำมะนาว และน้ำตาลมะพร้าว คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ 
          • 3. นำน้ำยำไปคลุกกับเครื่องที่เตรียมไว้ โรยถั่วลิสงอบ 



+++++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
3. ลาบหมู 

          ในเมื่อมีเมนูส้มตำแบบเบา ๆ แล้วแล้วก็มาเติมเต็มความอิ่มกันด้วยเมนูลาบหมูสักหน่อย อีกหนึ่งเมนูที่จะขาดไปไม่ได้เลยกับเสน่ห์กลิ่นข้าวคั่วหอม ๆ เคล้ากับเนื้อหมูรวนสุก โรยใบสะระแหน่ จกกับข้าวเหนียว หรือข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยนักแล ยิ่งในสมัยนี้ทำกินเองง่ายมาก ๆ เพราะมีผงปรุงลาบ-น้ำตกวางขายกันให้เกลื่อน !

สิ่งที่ต้องเตรียม

           • เนื้อหมูสับ 200 กรัม
           • หอมแดงซอย 1 หัว
           • ต้นหอมซอย 2 ช้อนโต๊ะ
           • ใบสะระแหน่ สำหรับโรยหน้า
           • น้ำปลา น้ำตาลทราย และน้ำมะนาว สำหรับปรุงรส
           • พริกป่น ปริมาณตามชอบ
           • ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

          •  ใส่น้ำลงในหม้อเล็กน้อย นำขึ้นตั้งไฟแรงจนเดือด ใส่เนื้อหมูสับลงไปรวนจนสุก ยกลงจากเตา

          •  ใส่หอมแดง ต้นหอมซอย และใบสะระแหน่ลงในหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย และพริกป่น คนผสมให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ เติมข้าวคั่ว จากนั้นเคล้าผสมให้เข้ากันอีกครั้ง ตักใส่จาน โรยใบสะระแหน่ พร้อมเสิร์ฟ

++++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
4. ลาบปลาดุก

          อีกหนึ่งเมนูลาบที่จะขาดไปไม่ได้เลยกับ ลาบปลาดุกย่าง ต้องสั่งมาแจมด้วยเสมอ ก็เพราะกลิ่นหอม ๆ ของปลาดุกย่าง จับมาเคล้าเครื่องเคียง ปรุงรสให้แซ่บ อูย ! นึกแล้วก็น้ำลายสอ กินคู่กับข้าวเหนียวร้อน ๆ แบบนี้ก็ฟินสิจ๊ะ ! ถ้าอย่างนั้นก็มาดูวิธีทำลาบปลาดุกกันเลย หรือจะลองเข้าไปดูวิธีทำแบบละเอียด เห็นภาพขั้นตอนการทำกับแบบจะจะได้ที่ ลาบปลาดุกย่าง อาหารอีสานสูตรเด็ดสำหรับมือใหม่

สิ่งที่ต้องเตรียม

           • ปลาดุกย่าง 1 ตัว
           • ข่าอ่อน เล็กน้อย
           • ใบมะกรูดซอย
           • พริกสดซอย เล็กน้อย
           • ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
           • พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ (หรือตามชอบ)
           • น้ำมะนาว 1 ลูก
           • ผงชูรส ตามชอบ
           • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
           • ต้นหอมและผักชีซอย
           • ใบมะกรูดซอย

วิธีทำ

           • แกะปลาดุกเอาแต่เนื้อ จากนั้นนำไปสับรวมกับข่าอ่อนเล็กน้อย ใส่ลงในอ่างผสม เตรียมไว้ (ถ้าชอบแบบน้ำขลุกขลิกก็เติมน้ำต้มสุกลงไปเล็กน้อย)
           • ใส่พริกสดซอย ข้าวคั่ว พริกป่น น้ำมะนาว ผงชูรส และน้ำปลา คนผสมให้เข้ากันดี ชิมรสตามชอบ
           • สุดท้ายโรยต้นหอมผักชีซอย และใบมะกรูดซอยลงไป เคล้าผสมให้เข้ากัน ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ

++++++++++++++

11 สูตรอาหารอีสาน รสเด็ดแซบนัว
5. ซุปหน่อไม้

          อีกหนึ่งเมนูในตระกูลลาบ ซึ่งนอกจากซุปหน่อไม้จะเป็นที่โปรดปรานของคออาหารอีสานแล้ว ยังเหมาะกับคนที่กำลังลดความอ้วนด้วยนะคะ เพราะซุปหน่อไม้ถ้วยเดียว ให้พลังงานต่ำมาก ๆ แต่ก็กินในปริมาณที่พอดีนะคะ เพราะหน่อไม้กินมากจะไม่ดีต่อสุขภาพนะจ๊ะ

          หมายเหตุ : ซุปหน่อไม้ 1 จาน ให้พลังงานโดยประมาณ 40 กิโลแคลอรี่

สิ่งที่ต้องเตรียม

           • ใบย่านาง 5-10 ใบ
           • หน่อไม้รวก ขูดเป็นเส้นยาว
           • น้ำปลาร้า 3 ช้อนโต๊ะ (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
           • เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
           • หอมแดงซอย 3 หัว
           • น้ำมะนาว สำหรับปรุงรส
           • น้ำปลา สำหรับปรุงรส
           • พริกป่น ตามชอบ
           • ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
           • ผักชีฝรั่งซอย
           • ต้นหอมซอย

วิธีทำ

           • ขยี้ใบย่านางกับน้ำจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม กรองเอาเฉพาะน้ำ เทใส่หม้อ เตรียมไว้
           • ต้มน้ำจนเดือด ใส่หน่อไม้รวกลงต้มจนน้ำเดือดอีกครั้ง ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนเย็น จากนั้นบีบน้ำออกจากหน่อไม้ให้หมด แล้วใส่ลงในน้ำใบย่านางที่เตรียมไว้ ยกขึ้นตั้งไฟจนเดือด ใส่เกลือป่น และน้ำปลาร้าลงไป ต้มจนเดือด ยกลงจาเตา เตรียมไว้
           • ตักหน่อไม้ใส่อ่างผสม ใส่หอมแดงซอย ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา พริกป่น และข้าวคั่ว เคล้าผสมให้เข้ากน ชิมรสตามชอบ ใส่ผักชีฝรั่งซอย และต้นหอมซอย เคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง ตักใส่จาน โรยใบสะระแหน่ พร้อมเสิร์ฟ

+++++++++++++++
ขอบคุณที่มา http://cooking.kapook.com/view92663.html

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน 2

6. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานพนมรุ้ง

           อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า พนมรุ้ง หรือ วนํรุง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่) โดยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น


           สำหรับปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอด อันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน




           ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือ ห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและ ด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายงดงาม ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้าง ขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17


           ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า "โรงช้างเผือก"


           ทั้งนี้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ แสงอาทิตย์จะทำมุมลอดทะลุประตูทั้ง 15 บานของปราสาทได้อย่างพอดี ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่ง ก่อสร้างของบรรพชน โดยอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ 0 4478  2715  และ ททท.สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ 0 4451 4447-8, 0 4451 8530 

 7. มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มอหินขาว
           มอหินขาว หรือ สโตนเฮนจ์เมืองไทย ตั้งอยู่ที่บ้านวังคำแคน ตำบลท่าหินโงม ห่างจากตังเมืองชัยภูมิไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ เป็นเนินเขาที่มีหินทรายสีขาวขนาดมหึมา ตั้งตระหง่านโพล่พ้นต้นหญ้า ยามต้องแสงแดดในเวลากลางวัน และช่วงเวลาหลังฝนตกไม่นานจะมองเห็นก้อนหินสีขาวเด่นชัดจากระยะไกล เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

           จากหลักฐานจากกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ เริ่มสำรวจเมื่อปี 2545 พบว่า การเรียงลำดับชั้นหินและอายุที่ได้จากซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ มีอายุระหว่าง 195-175 ล้านปี เพราะการสะสมของตะกอนทราย แป้ง และดินเหนียวหลังจาก 65 ล้านปีผ่านมา เกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกและแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก ผุพัง และการกัดเซาะ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ก่อให้เกิดลักษณะของเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ลักษณะด้านกายภาพของพื้นที่มอหินขาว ประกอบด้วยกลุ่มหินแบบเสาหิน แท่นหิน และลานหิน ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้พบเห็น ลักษณะเป็นก้อนหินใหญ่แปลกตา หาดูยาก รูปร่างคล้ายเห็ด เรือ ช้าง เต่า และเจดีย์ กระจายอยู่ทั่งไปบนเนินเขาสูง


           นอกจากนี้ยังมีเสาหินใหญ่ตั้งเรียงรายเป็นแถว มอหินขาวจัดเป็นจุดชมวิวที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งบริเวณรอบ ๆ นั้นยังเป็นพื้นที่ศึกษาสังคมของพันธุ์พืชต่าง ๆ สัตว์ป่าขนาดเล็ก แมลง และเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธารภูแลนคา ซึ่งชาวบ้านทำฝายกั้นน้ำกักเก็บไว้ใช้


           สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา โทรศัพท์ 08 7960 1853, 08 1976 0486  และ ททท.สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3030, 0 4421 3666, 0 4421 3667, 0 4435 1721  


8. โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ จังหวัดยโสธร



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้
           โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองซ่งแย้ หมู่ 2 ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 45 กิโลเมตร (ตามทางหลวงหมายเลข 2169 ยโสธร-เลิงนกทา) เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen in Thailand เป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ ใช้เสาไม้ทั้งเล็กและใหญ่กว่า 300 ต้น และไม้มุงหลังคา 80,000 แผ่น เป็นโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุกว่า 50 ปี และตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ทางจังหวัดยโสธรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิกให้กับคู่บ่าวสาวในวันวาเลนไทน์ของทุกปี ณ โบสถ์แห่งนี้ด้วย

           สำหรับประวัติความเป็นมา มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในปี ค.ศ. 1908 มีผู้หนีตายอพยพจากที่ต่าง ๆ กันเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้รวม 5 ครอบครัว ซึ่งหนีมาด้วยสาเหตุเดียวกัน คือ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงรุมทำร้ายและขับไล่ จากนั้นได้เดินทางไปหา บาทหลวงเดชาแนล และบาทหลวงออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ขอให้ไปช่วยขับไล่ผีปิศาจที่สิงสู่อยู่กับตนและครอบครัว ซึ่งบาทหลวงทั้ง 2 ท่าน ก็ยอมเข้าป่าลึกไปตามคำขอ เมื่อรู้สึกดีขึ้น ทั้ง 5 ครอบครัว จึงเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาบ้านหนองซ่งแย้ มีผู้คนอพยพไปอยู่มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1909 ชาวบ้านปลูกกระต๊อบฝาขัดแตะเล็ก ๆ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา นับว่าเป็นจุดกำเนิดวัดซ่งแย้ หรือชื่ออย่างเป็นทางการภาษาละตินว่า วัดอัครเทวดามิคาแอล ตามชื่อนักบุญองค์สำคัญ เป็นภาษาอังกฤษ คือ โบสถ์ เซนต์ไมเคิล เป็นภาษาฝรั่งเศส คือ โบสถ์แซงต์ มิเชล โดยมี บาทหลวงเดชาแนล เป็นอธิการโบสถ์คนแรก และคนในบ้านหนองซ่งแย้ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวไทยอีสาน ได้มาเข้ารีตถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเกือบทั้งหมด

           หลังจากนั้นได้มีการสร้างอาคารโบสถ์ใหม่หลายครั้ง โบสถ์ไม้เนื้อแข็งหลังปัจจุบันนี้ เป็นโบสถ์หลังที่ 4 วางแผนก่อสร้างปี ค.ศ. 1936 ชาวบ้านพากันรวบรวมไม้ลงมือสร้างปี ค.ศ. 1947 ตัวโบสถ์รูปทรงที่สร้างขึ้นมีลักษณะแบบศิลปะไทย กว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร จัดเป็นโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้แผ่นไม้เป็นแป้นมุง หลังคา 80,000 แผ่น ใช้เสาขนาดต่าง ๆ กันถึง 360 ต้น ส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เต็ง เสาในแถวกลางมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดมี 260 ต้น สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร พื้นแผ่นกระดานเป็นไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน ระฆังโบสถ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 2 ฟุต อยู่ในหอระฆังสูงที่สร้างแบบหอระฆังตามวัดไทยทั่วไป แต่แปลกตรงที่แยกต่างหากจากโบสถ์ และเนื่องจากไม้ที่ได้รวบรวมมามีจำนวนมาก จึงได้นำไม้ที่เหลือมาสร้างโรงเรียนบ้านซ่งแย้พิทยา

           ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 4571 8201 และ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี โทรศัพท์ 0 4524 3770, 0 4525 0714, 0 4524 3771 และ


        

9. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
           ภูหลวง มีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2517 มีพื้นที่ประมาณ 560,593 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง ฤดูกาลบนภูหลวงมี 3 ฤดู เหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน

           ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส จะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาว และกุหลาบแดง ส่วนฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็ก ๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ขณะที่ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง -4 องศาเซลเซียส จะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิล จะเปลี่ยนสีแดงแล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและ ตามพื้นป่าดิบเขา


           ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า 120 ล้านปี นอกจากนี้ ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือ ป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขา และลานหิน โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติภูหลวงเป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน เริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิง จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง ซุ้มงูเห่า และน้ำตกสายทอง


           ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย โทรศัพท์ 0 4280 1955 หรือ  และ ททท.สำนักงานเลย โทรศัพท์ 0 4281 2812, 0 4281 1480


10. เชียงคาน จังหวัดเลย



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เชียงคาน
           เชียงคาน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงสงบเงียบ ในย่านชุมชนยังคงมีห้องแถวไม้ บ้านไม้เก่า แก่ที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ เป็นเสน่ห์ที่สุดคลาสสิกของเชียงคาน บางแห่งตกแต่งทำเป็นที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนแบบสบาย ๆ ใกล้ชิดกับชุมชน กิจกรรมที่น่าสนใจ คือตักบาตรตอนเช้า ชมวัด และล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งโขง สินค้าที่ขึ้นชื่อของเชียงคาน คือ ผ้านวม  มะพร้าวแก้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนไม่ควรพลาดที่จะซื้อเป็นของฝาก

สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน 1

1. ภูกระดึง จังหวัดเลย

           ภูกระดึง หรือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย เพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้ง ทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปสัมผัสความ งามของสถานที่แห่งนี้มากมาย ซึ่งเส้นทางขึ้นภูกระดึงจุค่อนข้างชัน นักท่องเที่ยวจะต้องค่อย ๆ เดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ โดยจะมีจุดแวะพักที่ "ซำ" หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึง สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อทดสอบแรงกายและแรงใจ

           สำหรับจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง เช่น ผานกแอ่น เป็น จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายน, ผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง

           ป่าปิด เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางปกคลุมด้วยป่าดงดิบ มีลำธารหลากสายและน้ำตกสวยงามมากมาย ได้แก่ น้ำตกขุนพอง และน้ำตกผาน้ำผ่า เป็นต้น เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี นอกจากนี้ ภูกระดึงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย เช่น ผาหมากดูก, น้ำตกวังกวาง, น้ำตกเพ็ญพบใหม่, น้ำตกโผนพบ, น้ำตกเพ็ญพบ, น้ำตกถ้ำใหญ่, น้ำตกธารสวรรค์, น้ำตกถ้ำสอเหนือ, น้ำตกถ้ำสอใต้ และสระอโนดาต เป็นต้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภูกระดึง
           
2. สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี



           สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ที่ถูกเรียกว่า "แกรนด์แคนยอนเมืองไทย" ด้วย มีลักษณะของความงามของแก่งหินขนาดใหญ่ในลำน้ำโขง และวิถีชีวิตริมคลองสองฝั่งโขงนั้นงดงาม จนน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้แกรนด์แคนยอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา โดยสามพันโบกเป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินแห่งนี้จะจมอยู่ใต้บาดาล และด้วยแรงน้ำวนกัดเซาะทำให้แก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็กใหญ่ จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง หรือสามพันโบก โดยคำว่า "โบก" ภาษาท้องถิ่นนั้นแปลได้ว่า "แอ่ง" จนเป็นที่มาของชื่อ "สามพันโบก" ในช่วงหน้าแล้งสามพันโบกจะโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแอ่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการที่สวยงามและน่าอัศจรรย์

           นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดในลำน้ำโขงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่ สุด ทำให้เกิดงานประเพณีที่น่าสนใจของชาวบ้านสองคอน คือ ประเพณีตักปลาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ปากบ้อง ไปชมการจับปลาที่แปลกประหลาดกว่าที่อื่น ๆ ด้วยการใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคอยตักปลาที่จะว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำ เพื่อขึ้นไปวางไข่เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่น่าสนใจ

           สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงามของแก่งสามพันโบกทั้งช่วงเช้า ตรู่และช่วงยามเย็นพระอาทิตย์อัสดง ก็จำเป็นต้องหาและจองที่พักล่วงหน้า โดยที่พักส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมหาดสลึง จุดลงเรือท่องเที่ยวนั่นเอง มีที่พักสวยหลากสไตล์ทั้งแบบเห็นวิวหาดทรายและแม่น้ำโขงแบบใกล้ชิด หรือที่พักราคาประหยัดก็มีให้บริการ ในด้านอาหารการกินก็ไม่ต้องกังวล เพราะที่หาดสลึงก็มีร้านอาหารอร่อยมากมายบริการคุณทั้งเมนูปลาแม่น้ำโขง อาหารไทยตามสั่งทั่วไป อาหารพื้นบ้าน และอาหารอีสานมากมายให้คุณเลือกชิมกันจนอิ่มหนำสำราญ

           ทั้งนี้การเที่ยวชมสามพันโบกสามารถเลือกได้สองวิธี คือ นั่งเรือชมวิวไปเรื่อย ๆ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ไปจนถึงสามพันโบก หรือจะขับรถไปจนถึงสามพันโบกเลยก็ได้สำหรับคนที่มีเวลาเที่ยวน้อย แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมนั่งเรือชมวิวสวยสองฟากฝั่ง และยังมีสถานที่เที่ยวน่าสนใจก่อนถึงสามพันโบกให้ได้ตื่นตาตื่นใจอีกด้วย เช่น หาดสลึง หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูล ในฤดูแล้งน้ำโขงลดลงจะเผยมีหาดทรายสวยงาม เหมาะแก่การนั่งพักผ่อนสบาย ๆ ยามที่น้ำแห่งจัด ๆ จะเผยหาดทรายยาวตลอดแนวถึง 860 เมตรเลยทีเดียว, ปากบ้อง จุดที่แม่น้ำโขงไหลพาดปะทะแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย การปะทะกันของพลังธรรมชาติก่อให้เกิดภูมิประเทศแสนมหัศจรรย์ ลักษณะเหมือนคอขวดเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้กว้างเพียง 56 เมตร

           หินหัวพะเนียง เกาะหินขนาดใหญ่ขวางกลางแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคนในภาษาท้องถิ่นจึงเป็นที่มาของชื่อบ้านสองคอน หินหัวพะเนียงรูปร่างคล้ายอุปกรณ์ประกอบคันไถไม้ (ในภาษาไถเหล็ก) ชาวบ้านจึงเรียกว่า หินหัวพะเนียง, ผาหินศิลาเดช ร่อยรอยประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสเรืองอำนาจในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสเรืองอำนาจในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสได้นำเรือกลจักรไอน้ำขนส่งสินค้าระหว่างหลี่ผี-เวียงจันทน์ ผ่านมายังไทย มีการสลักตัวเลขที่หน้าผาหินบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และหาดหงส์ เนินทรายแม่น้ำโขงขนาดมหึมาเกิดจากการพัดพาของน้ำและนำตะกอนทรายมาทับถมกัน จนทำให้เป็นพื้นทรายกว้างใหญ่ ช่วงเวลาที่นิยมมาเที่ยวจะเป็นช่วงก่อนพระอาทิตย์อัสดง แสงเหลืองส้มอ่อน ๆ สะท้อนกับพื้นทรายสีขาวระยิบระยับสวยงามที่สุด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สามพันโบก

3. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม




           พระธาตุพนม หรือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ที่เป็นปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ซึ่งผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น "วรมหาวิหาร"

           แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุ ขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

           ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนม เป็นที่เคารพบูชาของชาวไทยและชาวลาว โดยเชื่อกันว่าหากใครได้มานมัสการครบ 7 ครั้ง จะเป็นลูกพระธาตุถือเป็นสิริมงคล แก่ชีวิตและมีความเจริญรุ่งเรือง นอกจานี้ ในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานนมัสการองค์พระธาตุขึ้นเป็นประจำ ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานนครพนม โทรศัพท์ 0 4251 3490-1, 0 4251 3492 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระธาตุพนม

4. ดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ

           จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปเยือน เมื่อดอกกระเจียวผลิบาน โดยเฉพาะพื้นที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และ อุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุ่งดอกกระเจียวป่าสีชมพูสีสันสดใสงดงามตัดกับสีเขียวของ ลำต้นและใบหญ้า ขึ้นแทรกอยู่เป็นระยะท่ามกลางต้นหญ้าและและป่าไม้นานาชนิด

           สำหรับ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเทพสถิต และอำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำชีและแม่น้ำป่าสัก มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียวที่มีดอกสีชมพูอมม่วงชูดอกสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝน เท่านั้น คือ เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยนับเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นมากที่สุดในประเทศไทย ณ แห่งนี้ ปกติจะพบขึ้นกระจายทั่วไปตั้งแต่ลานหินงามจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน 1 กิโลเมตร ซึ่งทางอุทยานฯ มีการทำสะพานทางเดิน สำหรับนักท่องเที่ยวเดินไปชมความงามของทุ่งดอกกระเจียวไว้เป็นส่วน ๆ พร้อมทั้งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเหยียบบนพื้นดินโดยตรง เพราะนอกจากจะไปเหยียบย่ำทำลายต้นดอกกระเจียวแล้วยังอาจเป็นการทำลายระบบ นิเวศน์ของธรรมชาติบริเวณนั้น ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 4489 0105 

           อุทยานแห่งชาติไทรทอง อยู่ ในท้องที่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงามและอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นผืนป่าบนเทือกเขาพังเหย ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากผืนป่าจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว ที่นี่ยังงดงามโดดเด่นด้วยดอกกระเจียวที่ผลิบานอยู่เต็มท้องทุ่ง เรียกชื่อว่า ทุ่งบัวสวรรค์ ที่มีทั้งดอกสีชมพูและสีขาว ซึ่งดอกกระเจียวสีขาวนี้หาดูได้ไม่ง่ายนัก โดยทุ่งดอกกระเจียวจะมีมากบริเวณสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตก มีทั้งหมด 5 ทุ่งใหญ่ ๆ อยู่ห่างที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร จะออกดอกสวยงามเต็มทุ่งประมาณช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กลางเดือนสิงหาคมของทุกปี จะออกดอกเต็มสะพรั่งช่วงใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝนของ แต่ละปี ทางอุทยานฯ ได้จัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่นำทางพานักท่อง เที่ยวเดินศึกษาธรรมชาติ และชมความงามของดอกกระเจียวที่บานชูช่อสีสดสวยงามแซมหญ้าเพ็ก ท่ามกลางแมกไม้ ขุนเขา และไอหมอกที่เย็นสบาย ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 89282 3437 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ทุ่งกระเจียวงาม
5. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี



           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 1,822-4,600 ปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีการเดินทางไป พิพิธภัณฑ์นี้ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

           1. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยแบ่งตามห้องจัด แสดง เช่น ห้องจัดแสดงขั้นตอนการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์, ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากบ้านนาดี ตำบลพังงา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จากบ้านนาโก ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และจากจังหวัดหนองคาย, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ จากบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากหลายแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง

           2. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง ที่อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แบ่งการจัดแสดงออกตามห้องดัง ได้แก่ ห้องโลหะกรรม จัดแสดงเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง และเรื่องราวของการทำสำริดและเหล็ก รวมถึงแหล่งแร่โบราณตามแหล่งต่าง ๆ ด้วย, ห้องเครื่องปั้นดินเผา เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา การกำหนดอายุลักษณะเครื่องปั้นดินเผาแบบต่าง ๆ ภาชนะดินเผากับประเพณีการฝังศพ ตลอดจนเทคนิคการผลิตภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง, ห้องบ้านเชียง การค้นพบสำริดที่สาบสูญ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2525-2529 แสดงผลการสำรวจขุดค้น ศึกษา และวิจัยหลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้จากการขุดค้นร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2517-2518 และห้องบ้านเชียงวันนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลและวัตถุพื้นบ้านของชาวบ้านเชียงในปัจจุบัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวพวน มาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเชียงตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือเมื่อประมาณ 200ปีมาแล้ว ซึ่งเดิมมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีการขุดพบโบราณคดีที่บ้านเชียง สังคมและการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไป



           นอกจากนี้ยังมีแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ประมาณ 500 เมตร เป็น 1 ในหลายแห่งที่ขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง แหล่งนี้ได้ขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2300-1800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวลเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย และบ้านไทพวน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 700 เมตร เดิมเป็นบ้านของ นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ มอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน และได้มีการขุดค้นตามหลักวิชาการทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณบ้านไทพวนจะปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วบ้าน กินได้ ให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นไทพวน

         ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บ้านเชียง


****ขอบคุณที่มาhttp://travel.kapook.com/view74007.htm