ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เสวรินทร์ สงสุรินทร์

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน 2

6. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานพนมรุ้ง

           อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า พนมรุ้ง หรือ วนํรุง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่) โดยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น


           สำหรับปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอด อันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน




           ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือ ห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและ ด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายงดงาม ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้าง ขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17


           ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า "โรงช้างเผือก"


           ทั้งนี้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ แสงอาทิตย์จะทำมุมลอดทะลุประตูทั้ง 15 บานของปราสาทได้อย่างพอดี ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่ง ก่อสร้างของบรรพชน โดยอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ 0 4478  2715  และ ททท.สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ 0 4451 4447-8, 0 4451 8530 

 7. มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มอหินขาว
           มอหินขาว หรือ สโตนเฮนจ์เมืองไทย ตั้งอยู่ที่บ้านวังคำแคน ตำบลท่าหินโงม ห่างจากตังเมืองชัยภูมิไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ เป็นเนินเขาที่มีหินทรายสีขาวขนาดมหึมา ตั้งตระหง่านโพล่พ้นต้นหญ้า ยามต้องแสงแดดในเวลากลางวัน และช่วงเวลาหลังฝนตกไม่นานจะมองเห็นก้อนหินสีขาวเด่นชัดจากระยะไกล เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

           จากหลักฐานจากกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ เริ่มสำรวจเมื่อปี 2545 พบว่า การเรียงลำดับชั้นหินและอายุที่ได้จากซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ มีอายุระหว่าง 195-175 ล้านปี เพราะการสะสมของตะกอนทราย แป้ง และดินเหนียวหลังจาก 65 ล้านปีผ่านมา เกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกและแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก ผุพัง และการกัดเซาะ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ก่อให้เกิดลักษณะของเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ลักษณะด้านกายภาพของพื้นที่มอหินขาว ประกอบด้วยกลุ่มหินแบบเสาหิน แท่นหิน และลานหิน ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้พบเห็น ลักษณะเป็นก้อนหินใหญ่แปลกตา หาดูยาก รูปร่างคล้ายเห็ด เรือ ช้าง เต่า และเจดีย์ กระจายอยู่ทั่งไปบนเนินเขาสูง


           นอกจากนี้ยังมีเสาหินใหญ่ตั้งเรียงรายเป็นแถว มอหินขาวจัดเป็นจุดชมวิวที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งบริเวณรอบ ๆ นั้นยังเป็นพื้นที่ศึกษาสังคมของพันธุ์พืชต่าง ๆ สัตว์ป่าขนาดเล็ก แมลง และเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธารภูแลนคา ซึ่งชาวบ้านทำฝายกั้นน้ำกักเก็บไว้ใช้


           สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา โทรศัพท์ 08 7960 1853, 08 1976 0486  และ ททท.สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3030, 0 4421 3666, 0 4421 3667, 0 4435 1721  


8. โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ จังหวัดยโสธร



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้
           โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองซ่งแย้ หมู่ 2 ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 45 กิโลเมตร (ตามทางหลวงหมายเลข 2169 ยโสธร-เลิงนกทา) เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen in Thailand เป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ ใช้เสาไม้ทั้งเล็กและใหญ่กว่า 300 ต้น และไม้มุงหลังคา 80,000 แผ่น เป็นโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุกว่า 50 ปี และตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ทางจังหวัดยโสธรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิกให้กับคู่บ่าวสาวในวันวาเลนไทน์ของทุกปี ณ โบสถ์แห่งนี้ด้วย

           สำหรับประวัติความเป็นมา มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในปี ค.ศ. 1908 มีผู้หนีตายอพยพจากที่ต่าง ๆ กันเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้รวม 5 ครอบครัว ซึ่งหนีมาด้วยสาเหตุเดียวกัน คือ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงรุมทำร้ายและขับไล่ จากนั้นได้เดินทางไปหา บาทหลวงเดชาแนล และบาทหลวงออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ขอให้ไปช่วยขับไล่ผีปิศาจที่สิงสู่อยู่กับตนและครอบครัว ซึ่งบาทหลวงทั้ง 2 ท่าน ก็ยอมเข้าป่าลึกไปตามคำขอ เมื่อรู้สึกดีขึ้น ทั้ง 5 ครอบครัว จึงเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาบ้านหนองซ่งแย้ มีผู้คนอพยพไปอยู่มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1909 ชาวบ้านปลูกกระต๊อบฝาขัดแตะเล็ก ๆ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา นับว่าเป็นจุดกำเนิดวัดซ่งแย้ หรือชื่ออย่างเป็นทางการภาษาละตินว่า วัดอัครเทวดามิคาแอล ตามชื่อนักบุญองค์สำคัญ เป็นภาษาอังกฤษ คือ โบสถ์ เซนต์ไมเคิล เป็นภาษาฝรั่งเศส คือ โบสถ์แซงต์ มิเชล โดยมี บาทหลวงเดชาแนล เป็นอธิการโบสถ์คนแรก และคนในบ้านหนองซ่งแย้ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวไทยอีสาน ได้มาเข้ารีตถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเกือบทั้งหมด

           หลังจากนั้นได้มีการสร้างอาคารโบสถ์ใหม่หลายครั้ง โบสถ์ไม้เนื้อแข็งหลังปัจจุบันนี้ เป็นโบสถ์หลังที่ 4 วางแผนก่อสร้างปี ค.ศ. 1936 ชาวบ้านพากันรวบรวมไม้ลงมือสร้างปี ค.ศ. 1947 ตัวโบสถ์รูปทรงที่สร้างขึ้นมีลักษณะแบบศิลปะไทย กว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร จัดเป็นโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้แผ่นไม้เป็นแป้นมุง หลังคา 80,000 แผ่น ใช้เสาขนาดต่าง ๆ กันถึง 360 ต้น ส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เต็ง เสาในแถวกลางมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดมี 260 ต้น สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร พื้นแผ่นกระดานเป็นไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน ระฆังโบสถ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 2 ฟุต อยู่ในหอระฆังสูงที่สร้างแบบหอระฆังตามวัดไทยทั่วไป แต่แปลกตรงที่แยกต่างหากจากโบสถ์ และเนื่องจากไม้ที่ได้รวบรวมมามีจำนวนมาก จึงได้นำไม้ที่เหลือมาสร้างโรงเรียนบ้านซ่งแย้พิทยา

           ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 4571 8201 และ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี โทรศัพท์ 0 4524 3770, 0 4525 0714, 0 4524 3771 และ


        

9. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
           ภูหลวง มีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2517 มีพื้นที่ประมาณ 560,593 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง ฤดูกาลบนภูหลวงมี 3 ฤดู เหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน

           ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส จะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาว และกุหลาบแดง ส่วนฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็ก ๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ขณะที่ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง -4 องศาเซลเซียส จะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิล จะเปลี่ยนสีแดงแล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและ ตามพื้นป่าดิบเขา


           ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า 120 ล้านปี นอกจากนี้ ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือ ป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขา และลานหิน โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติภูหลวงเป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน เริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิง จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง ซุ้มงูเห่า และน้ำตกสายทอง


           ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย โทรศัพท์ 0 4280 1955 หรือ  และ ททท.สำนักงานเลย โทรศัพท์ 0 4281 2812, 0 4281 1480


10. เชียงคาน จังหวัดเลย



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เชียงคาน
           เชียงคาน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงสงบเงียบ ในย่านชุมชนยังคงมีห้องแถวไม้ บ้านไม้เก่า แก่ที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ เป็นเสน่ห์ที่สุดคลาสสิกของเชียงคาน บางแห่งตกแต่งทำเป็นที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนแบบสบาย ๆ ใกล้ชิดกับชุมชน กิจกรรมที่น่าสนใจ คือตักบาตรตอนเช้า ชมวัด และล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งโขง สินค้าที่ขึ้นชื่อของเชียงคาน คือ ผ้านวม  มะพร้าวแก้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนไม่ควรพลาดที่จะซื้อเป็นของฝาก

สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน 1

1. ภูกระดึง จังหวัดเลย

           ภูกระดึง หรือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย เพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้ง ทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปสัมผัสความ งามของสถานที่แห่งนี้มากมาย ซึ่งเส้นทางขึ้นภูกระดึงจุค่อนข้างชัน นักท่องเที่ยวจะต้องค่อย ๆ เดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ โดยจะมีจุดแวะพักที่ "ซำ" หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึง สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อทดสอบแรงกายและแรงใจ

           สำหรับจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง เช่น ผานกแอ่น เป็น จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายน, ผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง

           ป่าปิด เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางปกคลุมด้วยป่าดงดิบ มีลำธารหลากสายและน้ำตกสวยงามมากมาย ได้แก่ น้ำตกขุนพอง และน้ำตกผาน้ำผ่า เป็นต้น เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี นอกจากนี้ ภูกระดึงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย เช่น ผาหมากดูก, น้ำตกวังกวาง, น้ำตกเพ็ญพบใหม่, น้ำตกโผนพบ, น้ำตกเพ็ญพบ, น้ำตกถ้ำใหญ่, น้ำตกธารสวรรค์, น้ำตกถ้ำสอเหนือ, น้ำตกถ้ำสอใต้ และสระอโนดาต เป็นต้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภูกระดึง
           
2. สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี



           สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ที่ถูกเรียกว่า "แกรนด์แคนยอนเมืองไทย" ด้วย มีลักษณะของความงามของแก่งหินขนาดใหญ่ในลำน้ำโขง และวิถีชีวิตริมคลองสองฝั่งโขงนั้นงดงาม จนน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้แกรนด์แคนยอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา โดยสามพันโบกเป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินแห่งนี้จะจมอยู่ใต้บาดาล และด้วยแรงน้ำวนกัดเซาะทำให้แก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็กใหญ่ จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง หรือสามพันโบก โดยคำว่า "โบก" ภาษาท้องถิ่นนั้นแปลได้ว่า "แอ่ง" จนเป็นที่มาของชื่อ "สามพันโบก" ในช่วงหน้าแล้งสามพันโบกจะโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแอ่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการที่สวยงามและน่าอัศจรรย์

           นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดในลำน้ำโขงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่ สุด ทำให้เกิดงานประเพณีที่น่าสนใจของชาวบ้านสองคอน คือ ประเพณีตักปลาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ปากบ้อง ไปชมการจับปลาที่แปลกประหลาดกว่าที่อื่น ๆ ด้วยการใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคอยตักปลาที่จะว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำ เพื่อขึ้นไปวางไข่เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่น่าสนใจ

           สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงามของแก่งสามพันโบกทั้งช่วงเช้า ตรู่และช่วงยามเย็นพระอาทิตย์อัสดง ก็จำเป็นต้องหาและจองที่พักล่วงหน้า โดยที่พักส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมหาดสลึง จุดลงเรือท่องเที่ยวนั่นเอง มีที่พักสวยหลากสไตล์ทั้งแบบเห็นวิวหาดทรายและแม่น้ำโขงแบบใกล้ชิด หรือที่พักราคาประหยัดก็มีให้บริการ ในด้านอาหารการกินก็ไม่ต้องกังวล เพราะที่หาดสลึงก็มีร้านอาหารอร่อยมากมายบริการคุณทั้งเมนูปลาแม่น้ำโขง อาหารไทยตามสั่งทั่วไป อาหารพื้นบ้าน และอาหารอีสานมากมายให้คุณเลือกชิมกันจนอิ่มหนำสำราญ

           ทั้งนี้การเที่ยวชมสามพันโบกสามารถเลือกได้สองวิธี คือ นั่งเรือชมวิวไปเรื่อย ๆ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ไปจนถึงสามพันโบก หรือจะขับรถไปจนถึงสามพันโบกเลยก็ได้สำหรับคนที่มีเวลาเที่ยวน้อย แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมนั่งเรือชมวิวสวยสองฟากฝั่ง และยังมีสถานที่เที่ยวน่าสนใจก่อนถึงสามพันโบกให้ได้ตื่นตาตื่นใจอีกด้วย เช่น หาดสลึง หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูล ในฤดูแล้งน้ำโขงลดลงจะเผยมีหาดทรายสวยงาม เหมาะแก่การนั่งพักผ่อนสบาย ๆ ยามที่น้ำแห่งจัด ๆ จะเผยหาดทรายยาวตลอดแนวถึง 860 เมตรเลยทีเดียว, ปากบ้อง จุดที่แม่น้ำโขงไหลพาดปะทะแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย การปะทะกันของพลังธรรมชาติก่อให้เกิดภูมิประเทศแสนมหัศจรรย์ ลักษณะเหมือนคอขวดเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้กว้างเพียง 56 เมตร

           หินหัวพะเนียง เกาะหินขนาดใหญ่ขวางกลางแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคนในภาษาท้องถิ่นจึงเป็นที่มาของชื่อบ้านสองคอน หินหัวพะเนียงรูปร่างคล้ายอุปกรณ์ประกอบคันไถไม้ (ในภาษาไถเหล็ก) ชาวบ้านจึงเรียกว่า หินหัวพะเนียง, ผาหินศิลาเดช ร่อยรอยประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสเรืองอำนาจในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสเรืองอำนาจในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสได้นำเรือกลจักรไอน้ำขนส่งสินค้าระหว่างหลี่ผี-เวียงจันทน์ ผ่านมายังไทย มีการสลักตัวเลขที่หน้าผาหินบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และหาดหงส์ เนินทรายแม่น้ำโขงขนาดมหึมาเกิดจากการพัดพาของน้ำและนำตะกอนทรายมาทับถมกัน จนทำให้เป็นพื้นทรายกว้างใหญ่ ช่วงเวลาที่นิยมมาเที่ยวจะเป็นช่วงก่อนพระอาทิตย์อัสดง แสงเหลืองส้มอ่อน ๆ สะท้อนกับพื้นทรายสีขาวระยิบระยับสวยงามที่สุด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สามพันโบก

3. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม




           พระธาตุพนม หรือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ที่เป็นปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ซึ่งผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น "วรมหาวิหาร"

           แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุ ขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

           ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนม เป็นที่เคารพบูชาของชาวไทยและชาวลาว โดยเชื่อกันว่าหากใครได้มานมัสการครบ 7 ครั้ง จะเป็นลูกพระธาตุถือเป็นสิริมงคล แก่ชีวิตและมีความเจริญรุ่งเรือง นอกจานี้ ในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานนมัสการองค์พระธาตุขึ้นเป็นประจำ ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานนครพนม โทรศัพท์ 0 4251 3490-1, 0 4251 3492 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระธาตุพนม

4. ดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ

           จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปเยือน เมื่อดอกกระเจียวผลิบาน โดยเฉพาะพื้นที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และ อุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุ่งดอกกระเจียวป่าสีชมพูสีสันสดใสงดงามตัดกับสีเขียวของ ลำต้นและใบหญ้า ขึ้นแทรกอยู่เป็นระยะท่ามกลางต้นหญ้าและและป่าไม้นานาชนิด

           สำหรับ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเทพสถิต และอำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำชีและแม่น้ำป่าสัก มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียวที่มีดอกสีชมพูอมม่วงชูดอกสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝน เท่านั้น คือ เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยนับเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นมากที่สุดในประเทศไทย ณ แห่งนี้ ปกติจะพบขึ้นกระจายทั่วไปตั้งแต่ลานหินงามจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน 1 กิโลเมตร ซึ่งทางอุทยานฯ มีการทำสะพานทางเดิน สำหรับนักท่องเที่ยวเดินไปชมความงามของทุ่งดอกกระเจียวไว้เป็นส่วน ๆ พร้อมทั้งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเหยียบบนพื้นดินโดยตรง เพราะนอกจากจะไปเหยียบย่ำทำลายต้นดอกกระเจียวแล้วยังอาจเป็นการทำลายระบบ นิเวศน์ของธรรมชาติบริเวณนั้น ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 4489 0105 

           อุทยานแห่งชาติไทรทอง อยู่ ในท้องที่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงามและอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นผืนป่าบนเทือกเขาพังเหย ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากผืนป่าจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว ที่นี่ยังงดงามโดดเด่นด้วยดอกกระเจียวที่ผลิบานอยู่เต็มท้องทุ่ง เรียกชื่อว่า ทุ่งบัวสวรรค์ ที่มีทั้งดอกสีชมพูและสีขาว ซึ่งดอกกระเจียวสีขาวนี้หาดูได้ไม่ง่ายนัก โดยทุ่งดอกกระเจียวจะมีมากบริเวณสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตก มีทั้งหมด 5 ทุ่งใหญ่ ๆ อยู่ห่างที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร จะออกดอกสวยงามเต็มทุ่งประมาณช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กลางเดือนสิงหาคมของทุกปี จะออกดอกเต็มสะพรั่งช่วงใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝนของ แต่ละปี ทางอุทยานฯ ได้จัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่นำทางพานักท่อง เที่ยวเดินศึกษาธรรมชาติ และชมความงามของดอกกระเจียวที่บานชูช่อสีสดสวยงามแซมหญ้าเพ็ก ท่ามกลางแมกไม้ ขุนเขา และไอหมอกที่เย็นสบาย ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 89282 3437 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ทุ่งกระเจียวงาม
5. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี



           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 1,822-4,600 ปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีการเดินทางไป พิพิธภัณฑ์นี้ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

           1. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยแบ่งตามห้องจัด แสดง เช่น ห้องจัดแสดงขั้นตอนการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์, ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากบ้านนาดี ตำบลพังงา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จากบ้านนาโก ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และจากจังหวัดหนองคาย, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ จากบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากหลายแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง

           2. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง ที่อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แบ่งการจัดแสดงออกตามห้องดัง ได้แก่ ห้องโลหะกรรม จัดแสดงเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง และเรื่องราวของการทำสำริดและเหล็ก รวมถึงแหล่งแร่โบราณตามแหล่งต่าง ๆ ด้วย, ห้องเครื่องปั้นดินเผา เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา การกำหนดอายุลักษณะเครื่องปั้นดินเผาแบบต่าง ๆ ภาชนะดินเผากับประเพณีการฝังศพ ตลอดจนเทคนิคการผลิตภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง, ห้องบ้านเชียง การค้นพบสำริดที่สาบสูญ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2525-2529 แสดงผลการสำรวจขุดค้น ศึกษา และวิจัยหลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้จากการขุดค้นร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2517-2518 และห้องบ้านเชียงวันนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลและวัตถุพื้นบ้านของชาวบ้านเชียงในปัจจุบัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวพวน มาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเชียงตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือเมื่อประมาณ 200ปีมาแล้ว ซึ่งเดิมมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีการขุดพบโบราณคดีที่บ้านเชียง สังคมและการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไป



           นอกจากนี้ยังมีแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ประมาณ 500 เมตร เป็น 1 ในหลายแห่งที่ขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง แหล่งนี้ได้ขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2300-1800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวลเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย และบ้านไทพวน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 700 เมตร เดิมเป็นบ้านของ นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ มอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน และได้มีการขุดค้นตามหลักวิชาการทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณบ้านไทพวนจะปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วบ้าน กินได้ ให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นไทพวน

         ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บ้านเชียง


****ขอบคุณที่มาhttp://travel.kapook.com/view74007.htm

ประเพณีภาคอีสาน

ประเพณีบุญเบิกฟ้า  จังหวัดมหาสารคาม
บุญเบิกฟ้า4550
          “ประเพณีบุญเบิกฟ้า  ช่วงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ชาวนาอีสานตอบแทนผืนแผ่นดินทำกิน  โดยการใช้ปุ๋ยคอกทำจากมูลสัตว์กลับคืนสู่ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  อีกทั้งสายฝนแรกของปีก็กำลังจะมา  ฟ้ากำลังจะร้อง  เมื่อมาทิศใดก็จะทำนายความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้นๆ ไปตามความเชื่อดั้งเดิม”
ชาวนาใช้ประโยชน์จากพื้นดินมายาวนาน  ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูก  ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้สูญสลายไป  เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว  เมล็ดข้าวที่เติบโตจนได้สีทองล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้  ซึ่งชาวนาต่างรู้และสำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน  ด้วยการคืนธาตุ  คืนอาหารเป็นการตอบแทน  อาการที่ว่าก็คือปุ๋ยนั่นเอง
เดือน ๓ เดือนมหัศจรรย์ของชาวอีสาน  นอกจากเป็นเดือนที่อุดมสมบูรณ์แล้วยังเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน  ซึ่งจะมีเสียงฟ้าร้อง  และมีความเชื่อว่าในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ นี้  เมื่อมีฟ้าร้องมาจากทิศทางใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝนในปีนั้นๆ  การทำนายดังกล่าวนับว่ามีความแม่นยำจนมีการจดบันทึกคำทำนายเป็นกลอนไว้เป็นหลักฐาน  ชื่อว่า “โสลกฝน”
20090816210944
ประเพณีบุญบั้งไฟ  จังหวัดยโสธร
“นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”
เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้
เมื่อถึงวันงาน  ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆ  จะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม  ตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน  และอีกหนึ่งสีสัน  คือ  ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคล  ผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น
pawed3
ประเพณีบุญผะเหวด  จังหวัดร้อยเอ็ด
“ประเพณีบุญผะเหวด  หรืองานบุญเดือนสี่  ภาพจำลองเรื่องราวมหาชาติชาดก  ครั้งที่พระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  ของขบวนแห่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ฟังเทศน์มหาชาติ  แห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  แห่ข้าวพันก้อน  เทศน์สังกาด  บุญใหญ่ที่สร้างความสุขสนุกสนานแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกัน”
จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้เริ่มฟื้นฟูงานประเพณีบุญผะเหวด  ขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งได้มีการกำหนดจัดงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บึงผลาญชัย  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  เริ่มตันวันศุกร์ด้วยการแห่พระอุปคุต  วันเสาร์  ขบวนแห่ ๑๓ กัณฑ์  และวันอาทิตย์  ฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  ขบวนต่างๆ ล้านเกิดจากความร่วมใจของชาวบ้าน  ที่แสดงออกถึงจตุปัจจัยที่ร่วมกัน  ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น  และเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนั้น
เข้าสู่งานประเพณี  ชาวร้อยเอ็ดจะอัญเชิญพระอุปคุตแห่รอบเมือง  เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดภัยพิบัติและให้ทำมาค้าขึ้น  จากนั้นเริ่มพิธี “มหามงคลพุทธมนต์  พระอุปคุตเสริมบารมี”  เข้าสู่วันที่สอง  ช่วงเช้าแจกสัตสดกมหาทาน  บริจาคสิ่งของแด่ผู้ยากไร้  ตามด้วยไฮไลท์ของงานคือ  ขบวนแห่ตำนานพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์  ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่สมจริง  งดงามด้วยสีสันและท่วงท่าการร่ายรำ  พระเวสสันดรทรงช้างมาพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ห้อมล้อมด้วยเหล่าทหารที่ยิ่งใหญ่
PA1341821
งานประเพณีตีช้างน้ำนอง มุกดาหาร
สายน้ำโขงสีขุ่นที่ไหลเรื่อย ช่วงเริ่มต้นแห่งฤดูฝน ระดับสูงขึ้นใกล้เต็มตะลิ่ง ใกล้เวลาที่ชาวบ้านสองฝั่งโขงจะมาร่วมใจ ลงแรก ช่วยลุ้น ผลัดกันส่งเสียงร้องให้กำลังใจเหล่าฝีมืพายจากที่ต่างๆ ที่มาพร้อมกันเพื่อช่วยชิงชัยจ้าวแห่งสายน้ำ ณ เมืองมุกดาหาร ซึ้งมีเอกลักษณ์ของพิธีการ ไม่เหมือนใครจนกลายเป็นประเพณีของไทยที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขัน คือ ประเพณีการตีช้างน้ำนอง ในการแข่งขันประเพณีออกพรรษาไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวั่นนะเขต)
เริ่มต้นเอาฤกษ์เอาชัย ขบวนเรือที่เข้าแข่งขันต่างมารวมตัวพร้อมกัน ณ ท่าน้ำ ขบวนเรือพายเรือล่องตามลำน้ำโขง ทุกฝีพายต่างโห่ร้อง ตกลอง เคาะเกราะ เกิดเป็นจังหวะที่ขึงขัง เพื่อประกอบพิธีสักการะพระแม่คงคา เทวดา พญานาค บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทั้งทางบกและทางน้ำ
จากช่วงจังหวะที่ไม้พายจ้วงลงในพื้นน้ำ เมื่อยกขึ้น สายน้ำก็สาดกระเซ็นเกิดเป็นละออง ราวกลับโขลงใหญ่กำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน และเกิดระลอกคลื่นซัดเข้ากระทบฝั่งอย่างต่อเนื่อง จนมีเสียงดังจนคล้ายเสียงช้างร้อง ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงเรียกพิธีนี้ว่า “พิธีตีช้างน้ำนอง” เรื่อยมา
เข้าถึงช่วงการแข่งขัน เรือแห่งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานเครื่องเกียรติยศนำหน้าขวบน คลอเคล้าด้วยเสียงโห่ร้องของเหล่าฝีพายที่ดังสนั่นก้องท้องลำน้ำโขง นับเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้สายตาทุกคู่ถูกมนต์สะกดให้จับจองอยู่ที่พิธีกรรมที่เกิดจากความร่วมใจของขาวมุกดาหาร ที่ยังคงสานต่องานประเพณีไทยอันทรงคุณค่านี้สืบไป
DSC00824_resize
ประเพณีข้าวสาก
งานบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัต) คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุสลไปให้กับเปรต ซึ่งงานบุญข้าวสากกับงานบุญข้าวประดับดินในเดือน ๙ จะมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและผู้ล่วงลับไปแล้ว
มูลเหตุของการเกิดงานบุญข้าวสาก สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ส่วนบิดาเสียชีวิตแล้ว เมื่อถึงวัยที่ต้องแต่งงาน มารดาจึงหาผู้หญิงมาให้ชายหนุ่มจึงแต่งงานกับหญิงสาวผู้นั้น แต่อยู่กันมานานก้ไม่มีบุตรสักที มารดาจึงหาภารยาให้ใหม่ พออยู่กินมาไม่นานภารยาน้อยก็ตั้งครรภ์ ภารยาหลวงเกิดอิจฉาจึงคิดวางแผนบอกกับภรรนาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์ภรรยาน้อยต้องบอกนางเป็นคนแรก
เมื่อภรรยาน้อยตั้งครรภ์ นางจึงบอกกับภรรยาหลวง ภรรยาหลวงจึงนำยาที่ทำให้แท้งให้ภรรยาน้อยกิน พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ครั้งที่สองภรรยาหลวงก็นำยาแท้งให้กินอีกพอครั้งที่สามภรรยาน้อยไม่บอกภรรยาหลวงแต่หนีไปอาศัยอยู่กับญาติ ภรรยาหลวงจึงตามไปแล้วให้ยากินอีก แต่คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่แล้ว แต่ลูกในท้องนอนขวางทำให้บีบหัวใจจนตาย ก่อนที่ภรรยาน้อยจะตายนางได้จองเวรกับภรรยาหลวงว่า ชาติหน้าของให้นางได้เกิดเป็นยักษิณีและให้ได้กินภรรยาหลวงและลูกของภรรยาหลวง
กฐิน
ประเพณีทอดกฐิน
ประเพณีทอดกฐินจะทำในช่วงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน เกี๋ยงเหนือหรือเดือนตุลาคม ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่เหนือ หรือเดือนพฤศจิกายน สมัยโบราณชาวล้านนาไม่นิยมทอดกฐินเนื่องจากว่าจะต้องใช้ปัจจัย (เงิน) ค่อนข้างมาก ผู้ที่จะถวายกฐินได้จะต้องมีฐานะดีและมีความตั้งใจจริง
เมื่อผู้ใดมีความประสงค์จะถวายกฐิน จะต้องจองกฐินที่วัด และบอกแก่ชาวบ้านให้ทราบโดยทั่วกัน เมื่อถึงวันทอดกฐินก็จะมีการแห่กฐินมาทอดที่วัด และในบางวัดจะมีมหรสพในตอนกลางคืนด้วย
2-3
ประเพณีทอดผ้าป่า
การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน คล้ายกับการทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจํากัด คือสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่จำกัดเวลา คือทำได้ตลอดทั้งปี และวัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน ผู้ปรารถนาจะทำเมื่อไรย่อมทำได้ตามกำลังศรัทธา ซึ่งอาจจะผสมผสานหรือผนวกเข้ากับเทศกาลประเพณีประจำท้องถิ่นอื่นๆ ก็ได้ อีกทั้ง ยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับพระภิกษุที่จะรับผ้าป่าแต่อย่างใด
เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะจัดหากิ่งไม้ 1 กิ่ง เทียนไขหรือเทียนขี้ผึ้งก็ได้ 1 ดอก และ ผ้า 1 ผืน จะเป็นผ้าสบง หรือจัดให้ครบไตรจีวรเลยก็ได้ หรืออาจจะใช้ผ้าอื่นๆ เช่น ผ้าห่ม หรือ ผ้าเช็ดตัวก็ได้ ของสามอย่างอันได้แก่ กิ่งไม้ เทียน และผ้านี้นับว่าสำคัญที่สุด ขาดมิได้
707405-topic-ix-2
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเป็นงานบุญของชาวอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสกลนคร ปฏิบัติกันในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น ๑๒-๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑
มูลเหตุของการทำปราสาทผึ้ง สืบเนื่องมาจากครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จจำพรรษาบนสวรรค์ ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ พระอินทร์จึงนิรมิตบันได ๓ ชนิดขึ้นมา คือ
๑. บันได้แก้วมณี สำหรับพระพุทธเจ้าเสด็จลง
๒. บันไดทองคำ สำหรับเทวดาเสด็จลง
๓. บันไดเงิน สำหรับมหาพรหมเสด็จลง
ซึ่งหัวบันไดนั้นตั้งอยู่บนยอดเขาสีเนรุนาทบนสวรรค์ ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่ ณ เมืองสังกัสสะบนโลกมนุษย์ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จลงนั้นพระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดพรหมโลก ซึ่งอยู่เบื้องบน และเปิดโลกมนุษย์ซึ่งอยู่เบื้องล่าง ทำให้ทั้งพรหมโลก สวรรค์ และโลกมนุษย์ สามารถมองเห็นพระองค์ได้หมด ทำให้พวกเทวดา มนุษย์ นาค สัตว์ต่างๆ เกิดความเลื่อมใสและชื่นชมในพระบารมีแห่งพระพุทธองค์ และด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้พวกเทวดา มนุษย์ และสัตว์โลกต่างๆ ได้เห็นปราสาทอันสวยงาม และอยากที่จะไปอยู่บ้าง ทำให้พวกที่ได้เห็นเกิดความรู้แน่ชัดว่า การที่จะได้อยู่ในปราสาทอันสวยงามนั้นต้องกระทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล และต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักธรรม และสร้างปราสาทกองบุญไว้ในโลกมนุษย์เสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างปราสาทและเกิดประเพณีแห่ปราสาทผึ้งขึ้นมา
TrijewornFsc-Dmc45k1
ประเพณีบุญกฐิน
งานประเพณีบุญกฐิน คือ งานบุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
มูลเหตุของการทำบุญกฐินสืบเนื่องมาจากว่า ในสมัยพุทธกาล ภิกษุเมืองปาฐาจำนวน ๓o รูป มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร แต่ขณะเดินทางนั้นได้ใกล้วันจำพรรษา ภิกษุเหล่านั้นจึงหยุดจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตก่อน ครั้นออกพรรษาภิกษุทั้ง ๓o รูป จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากระยะทางนั้นไกลและมีฝนตก จึงทำให้ผ้าสบงจีวรเปรอะเปื้อนโคลนเลน พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากของภิกษุ จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้
ประเภทของกฐินแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
กฐินหลวง คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงวางผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง
กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีจิตศรัทธานำผ้ากฐินไปทอด ณ วัดต่างๆ ที่มิใช่วัดหลวง
ก่อนถึงวันงานบุญกฐิน เจ้าภาพหรือผู้ที่ต้องการจะถอดกฐินจะทำการจองกฐิน ครั้นถึงวันงานจะมีการแห่กฐินและนำไปทอด ณ วัดนั้นๆ
songkarn1
ประเพณีบุญสงกรานต์
ประเพณีบุญสงกรานต์ไทยหรือเทศกาลสงกรานต์ไทย ชาวอีสานจะเรียกว่า “สังขานต์” แปลว่า “สงกรานต์” ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึงพระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปอีกในจักรราศีหนึ่ง เรียกว่า “สงกรานต์”

*********ขอบคุณที่มา https://sukanyaae20.wordpress.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99/

จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 20 จังหวัด โดยมีรายชื่อจังหวัดดังนี้

1. จังหวัดนครราชสีมา


...........................................

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภาคอีสาน
******** ขอบคุณที่มา http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87/